จากคนพิการสู่ช่างซ่อมกายอุปกรณ์ เสริมพลังใจ เพิ่มรายได้ ( รหัสโครงการ 52E0005)
การใช้ประโยชน์ เชิงพื้นที่ ด้านคุณภาพชีวิต
ชมรมคนพิการ องค์การบริหารส่วนตำบล สถานีอนามัยหนองหลักตำบลหนองหลัก อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ได้รวมพลังกันหาแนวทางจัดหากายอุปกรณ์ให้คนพิการ ภายใต้โครงการวิจัยวิจัย เรื่องการศึกษาการใช้กายอุปกรณ์คนพิการตำบลหนองหลัก อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าโครงการคือ นางเนตรนภา คลังสิน โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยอยู่ 3 ข้อคือ เพื่อศึกษาการใช้กายอุปกรณ์ของคนพิการ เพื่อศึกษาพัฒนาการด้านการสนับสนุนการใช้กายอุปกรณ์ให้คนพิการของหน่วยงาน ในตำบล และ เพื่อหาแนวทางสนับสนุน / จัดหา / ใช้กายอุปกรณ์สำหรับคนพิการในตำบลหนองหลัก อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา โดยศึกษาในพื้นที่ตำบลหนองหลัก ซึ่งมีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ประชากรชาย 2,427 คน ประชากรหญิง 2,542 คน รวมประชากร 4,969 คน จำนวนหลังคาเรือน 1,067 ครัวเรือน จำนวนคนพิการรวมทุกประเภทจำนวน 79 คน
งานวิจัยนี้ใช้วิธีการศึกษาเชิงสำรวจและเก็บข้อมูลจากคนพิการที่ใช้กายอุปกรณ์ และ คนพิการที่ไม่ใช้กายอุปกรณ์ โดยการสัมภาษณ์ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ให้มี การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกต Focus group discussion แล้วนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยใช้กรอบการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ซึ่งพบว่า ยังมีคนที่มีกายอุปกรณ์ไม่ครบ และคนที่มีกายอุปกรณ์แต่ชำรุดเสียหาย ในระยะต่อมาเครือข่ายทั้ง 3 องค์กรได้จำแนกข้อมูลการใช้กายอุปกรณ์ ว่าคนพิการที่จำเป็นต้องใช้มีกี่คน ได้รับแล้วกี่คน และต้องการซ่อมกี่คน มีระบบการช่วยเหลืออย่างไรตั้งแต่ ชุมชน อปท. และ สถานีอนามัย อย่างไร
จากการร่วมกันศึกษาของนักวิจัยดังกล่าว ทำให้คนพิการได้รับประโยชน์ ในเรื่องการจัดหากายอุปกรณ์ ว่าแต่ละหน่วยงานหรือองค์กรมีหน้าที่อะไรในเรื่องนี้ กล่าวคือ ชุมชน โดยเริ่มจาก อสม. ทราบว่า มีคนพิการภายในคุ้มตนเองคนใดต้องการการอุปกรณ์หรือต้องการช่วยเหลืออะไรบ้าง แล้วรวบรวมเป็นข้อมูลของชุมชน แล้วนำไปเสนอให้ อบต. เพื่อขอรับการสนับสนุน จัดหากายอุปกรณ์ การซ่อม จัดให้มีศูนย์ซ่อมกายอุปกรณ์ในพื้นที่ระดับตำบล
ผลการวิจัยที่จะแก้ปัญหาเรื่องกายอุปกรณ์ให้คนพิการทางนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมานี้ ทำให้นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก ได้นำไปต่อยอดโครงการด้วยการจัดทำโครงการฝึกอบรมการซ่อมกายอุปกรณ์ ตำบลละ 1 คน จำนวน 350 คน เมื่อเดือน มีนาคม 2554 ส่งผลให้ทุกตำบลมีคนพิการที่สามารถซ่อมกายอุปกรณ์ให้แก่คนพิการอื่นๆ ได้ อย่างน้อยตำบลละ 1 คน ผลจากการทำโครงการต่อยอดนี้ นอกจากจะมีคนพิการที่สามารถซ่อมกายอุปกรณ์ให้กับเพื่อนละแวกเดียวกันได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่คนพิการด้วย
ถวิล ตรีวรปรัชญ์
ผู้ช่วยผู้ประสานงานโหนด นครราชสีมา |